ไทย เอสพีเอส นิวส์ เป็นเว็บข่าวเพื่อมวลชน เจาะลึก ทันเหตุการณ์ โดยสมาคมผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนเพื่อสังคมประเทศไทย
เปิดคำวินิจฉัย ‘ผอ.สำนักกฎหมาย’ ก่อน ‘รองปลัดมท.’ เซ็นเพิกถอนที่ดินอัลไพน์!
(อ่านแล้ว 32 ครั้ง)
Share on Google+

 

ยงยุทธ ชื้นประเสริฐ, ชำนาญวิทย์ เตรัตน์

 

21 ม.ค. 2568 - สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ขณะดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ได้ทำหนังสือบันทึกที่ มท 0100.3/324 ลงวันที่ 3 ก.ย.2567 ไปถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร (ที่ดินอัลไพน์) และให้กระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ เพื่อให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดิน 2 แปลง (ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 20 ต.คลองซอยที่ 5 ฝั่งตะวันออก (บึงตะเคียน) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เนื้อที่ 730-1- 51 ไร่ และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1446 ต.บึงอ้ายเสียบ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

เนื้อที่ 194-1-24 ไร่) ตลอดจนรายการจดทะเบียนลำดับต่อๆ มาจากรายการข้างต้น ‘กลับมามีผล’เนื่องจากเป็น ‘ที่ธรณีสงฆ์’

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2567 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ได้ลงนามคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของนายยงยุทธฯ และมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์แล้ว และส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการ รวมทั้งแจ้งเรื่องดังกล่าวให้รมว.มหาดไทยทราบ นั้น

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับ ‘คำวินิจฉัย’ ที่ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เสนอให้นายชำนาญวิทย์ (รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน) พิจารณา ก่อนนายชำนาญวิทย์ มี ‘ข้อสั่งการ’ เพิกถอนโฉนดที่ดินอัลไพน์ มีรายละเอียด ดังนี้

ข้อพิจารณา (เสนอโดยนายยงยุทธ ชื้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย)

4.1 สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.)พิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งกรมที่ดินได้เสนอมาตามหนังสือกรมที่ดิน ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0515.1/4360 ลงวันที่ 3 พ.ย.2563 รายงานข้อเท็จจริง ความเห็น ข้อกฎหมาย

พร้อมเหตุผลเสนอ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปมท.) เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครอง ซึ่งรองอธิบดีที่อธิบดีกรมที่ดินมอบหมายพิจารณาแล้ว ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ทั้งหมดของผู้อุทธรณ์ ทั้ง 296 ราย จึงเสนอให้ ปมท. พิจารณาอุทธรณ์และวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งได้วินิจฉัยไป โดยผู้รักษาราชการแทน ปมท. (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2545 ใหม่

4.2 อุทธรณ์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยใหม่ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณีใหม่เป็นอำนาจของ ปมท. (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) หรือ รอง ปมท. (รองปลัดกระทรวงมหาดไทย) พิจารณาแล้วเห็นว่า อำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของรอง ปมท. (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน)

 

ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 21 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามมาตรา 45 มาตรา 49 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับข้อ 2 (4) กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2538 และข้อ 32 กฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ พ.ศ.2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546 ประกอบหนังสือสำนักงาน ก.พ.ร. ลับ ด่วนที่สุด ที่ นร 1206/127 ลงวันที่ 7 พ.ค.2558

ประเด็นที่ 2 อุทธรณ์ที่กรมที่ดินมีหนังสือกรมที่ดิน ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0515.1/4360 ลงวันที่ 3 พ.ย.2563 ส่งมา อยู่ในระยะเวลาที่จะรับไว้พิจารณาตามกฎหมายหรือไม่

เห็นว่า คำวินิจฉัยของผู้รักษาราชการแทน ปมท. เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2545 ซึ่งวินิจฉัยว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2545 ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0209.3/550 ลงวันที่ 13 มี.ค.2545 เป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ตามเรื่องเสร็จที่ 73/2544 และหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับ ที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 จึงไม่มีอายุความ

ประกอบกับคำสั่งทางปกครองที่เป็นโมฆะนั้น ไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ ในทางกฎหมาย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจปฏิเสธไม่รับรู้ว่ามีคำสั่งเช่นนั้นอยู่ได้ เนื่องจากคำสั่งทางปกครองที่เป็นโมฆะมีผลเท่ากับไม่มีการใดเกิดขึ้น จึงแก้ไขให้สมบูรณ์อีกไม่ได้ (ความเห็นทางวิชาการตามหนังสือกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ LW461(W) ของอาจารย์ฐิติพร ลิ้มแหลมทอง อ้างถึงคำอธิบายของศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ในเรื่องคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์)

และตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.63/2545 คดีหมายเลขแดงที่ อ.47/2546 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครองผิดพลาดชัดแจ้งและร้ายแรง เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้รักษาราชการแทน ปมท. ดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ ในทางกฎหมายผู้ใด จึงยกความเป็นโมฆะนั้นอ้างเมื่อใดก็ได้ โดยไม่มีอายุความ

ดังนั้น อุทธรณ์ที่กรมที่ดินเสนอมาให้วินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นโมฆะ และไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รักษาราชการแทน ปมท. รวมอยู่ด้วย จึงไม่มีอายุความ เห็นควรรับอุทธรณ์ไว้พิจารณา ตามความเห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว

ประเด็นที่ 3 คำวินิจฉัยของผู้รักษาราชการแทน ปมท. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไปแล้วว่า คำสั่งของผู้รักษาราชการแทน ปมท. ขัดแย้งกับข้อกฎหมายและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) และหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับ ที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1เม.ย.2545 เนื่องจากเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ที่ดินตามพินัยกรรมตกแก่วัดธรรมิการามวรวิหารทันที

การโอนที่ดิน ผู้จัดการมรดกจะต้องโอนให้แก่วัด จะโอนให้บุคคลอื่นมิได้ และหากจะโอนที่ดินของวัด (ที่ธรณีสงฆ์) จะต้องโอนโดยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งข้อเท็จจริง ผู้จัดการมรดก (มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 20 และโฉนดเลขที่ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ให้แก่มูลนิธิฯ ในฐานะผู้รับโอนซึ่งมิใช่วัดซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรม

และมูลนิธิฯ ผู้รับโอน ได้โอนที่ดิน 2 โฉนด ตามพินัยกรรมดังกล่าวให้แก่บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ผู้ซื้อ เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2533 ในวันเดียวกันนั้น จึงเป็นการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฝ่าฝืนเจตนาของเจ้ามรดก และการจดทะเบียนโอนที่ดินขัดต่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 อย่างชัดแจ้ง

การที่ผู้รักษาราชการแทน ปมท. วินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 ซึ่งวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นกฎหมายพิเศษที่ยกเว้นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป ดังนั้น การได้มาซึ่งที่ดินของวัด จึงต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า รัฐมนตรีได้สั่งไม่อนุญาตให้วัดได้มาซึ่งที่ดินมรดกรายนี้ วัดจึงยังไม่ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0209.3/550 ลงวันที่ 13 มี.ค.2545 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นโมฆะ และไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ ในทางกฎหมาย

แต่เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือ ลับ ที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 ให้ ปมท. คนต่อมาอาจเพิกถอนคำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว และทำคำสั่งใหม่ได้เสมอ เพื่อให้การเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้มีคำวินิจฉัยทำนองเดียวกัน ตามเรื่องเสร็จที่ 1333/2557

ปรากฏตามหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ นร 0913/1 ลงวันที่ 30 ธ.ค.2557 ประกอบมติดณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือสำนักงาน ป ป ช ลับ ที่ ปช 0034/0281 ลงวันที่ 4 ส.ค.2555 ให้ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0209.3/550 ลงวันที่ 13 มี.ค. 2545 และตามคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (ศาลอุทธรณ์) คดีหมายเลขแดงที่ 18089/2561

ดังนั้น จึงให้เพิกถอนหนังสือกระทรวงมหาดไทย ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0209.3/550 ลงวันที่ 13 มี.ค.2545 เนื่องจากเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ขอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ ซึ่งเสมือนไม่มีคำสั่งดังกล่าว

ประเด็นสุดท้าย อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ จำนวน 296 ราย ทุกประเด็น รับฟังได้หรือไม่ นั้น เมื่อพิจารณารายงานความเห็นของรองอธิบดีที่อธิบดีกรมที่ดินมอบหมายได้วินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ทั้ง 296 ราย ในทุกประเด็นแล้ว

เห็นว่า คำวินิจฉัยของรองอธิบดี ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2545 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ทั้ง 296 ราย ในทุกประเด็นฟังไม่ขึ้น ให้ยกอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ทั้ง 296 ราย ตามที่กรมที่ดินเสนอ

4.3 ให้กรมที่ดินดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและดำเนินการ ดังนี้

(1) แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ พร้อมแจ้งสิทธิในการฟ้องคดีปกครองตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ให้ผู้อุทธรณ์ทราบและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

(2) เนื่องจากรณีนี้ รมว.มท. (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ได้มีคำสั่งตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2533 ว่า “ไม่อนุญาตให้วัดธรรมิการามวรวิหารได้มาซึ่งที่ดินมรดกทั้งสองแปลงดังกล่าว และให้เจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร ดำเนินการตามข้อ 4 แห่งพินัยกรรม” ซึ่งตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับ ที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 ถึง รมว.มท. เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ธรณีสงฆ์ของวัคธรรมิการามวรวิหาร

แจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปได้ว่า หากวัดฯ ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ ต้องการโอนที่ดินให้แก่เอกชนผู้ประสงค์จะซื้อที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าว การจะโอนต้องดำเนินการตรา พ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ให้กรมที่ดิน

(ก) แจ้งวัดธรรมิการามวรวิหารทราบ พร้อมสิทธิในการฟ้องคดีปกครองตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

(ข) แจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทราบในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งอาจจะต้องดำเนินการตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับ ที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 ต่อไป

(ค) แจ้งสำนักงาน ป.ป.ช. ทราบด้วย

5.ข้อเสนอ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาตามข้อ 4 หากเห็นชอบ โปรดมีคำวินิจฉัย ดังนี้

5.1 เห็นชอบตามข้อ 4.1 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ตามข้อ 4.2

5.2 เห็นชอบให้กรมที่ดินดำเนินการตามข้อ 4.3

5.3 มอบหมายให้สำนักกฎหมาย สป. แจ้งกรมที่ดินดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

5.4 นำเรียน ปมท. ลงนามในหนังสือเรียน รมว.มท. เพื่อโปรดทราบ ตามหนังสือที่เสนอมาพร้อมนี้

ข้อสั่งการ (นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงหมาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ลงวันที่ 16 ม.ค.2568)

1.ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และให้ยกอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ทุกรายและทุกประเด็น ตามความเห็นของกรมที่ดินข้อ 4.1 และข้อ 4.2

2.ให้กรมที่ดินดำเนินการตามข้อ 4.3

3.ให้สำนักกฎหมาย สป. (สำนักงานปลัดกระทรวงฯ) แจ้งกรมที่ดิน ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่อไป

4.เรียน ปมท. (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) โปรดลงนามในหนังสือนำเรียน รมว.มท. (อนุทิน ชาญวีรกูล) เพื่อโปรดทราบ

 

เหล่านี้เป็นรายละเอียด 'คำวินิจฉัย' ของผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เสนอไปยังให้ นายชำนาญวิทย์ ก่อนที่นายชำนาญวิทย์ ได้ลงนามในข้อสั่งการให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน ‘อัลไพน์’ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2568 และส่งเรื่องให้ ‘กรมที่ดิน’ ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อไป

Share on Google+
หนังสือพิมพ์ออนไลน์
เศรษฐกิจในประเทศ